การไหว้เจ้าที่เจ้าทาง การไหว้ศาลพระภูมิเป็นหนึ่งสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะไปที่ไหน เมื่อพบเห็นและผ่านก็ต้องมีการไหว้เกิดขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ตัวผู้เจอ อีกทั้งหากต้องไปอยู่ในสถานที่นั้นๆ เช่น การย้ายเข้าบ้านใหม่ก็มักมีการไหว้เจ้าที่ ไหว้ศาลพระภูมิ แต่ทั้งสองก็มีความต่างกันและควรดูสังเกตให้ดีก่อนไหว้
ศาลพระภูมิคืออะไร
ศาลพระภูมิตามความเชื่อคือเป็นสถานที่ของเทพารักษ์ที่คอยคุ้มครอง ปกป้องบ้านเรือน จุดสังเกตคือ มักมีลักษณะเป็นบ้านหรือวิหารหลังเล็ก มีเสาเดียวเนื่องด้วยฐานะเทพหรือภุมมเทวา มักตั้งไว้ส่วนพื้นดิน ตรงที่ไม่โดนเงาของตัวบ้าน ตามความเชื่อคือผู้ที่กราบไหว้จะได้รับสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ได้รับการปกป้องจากสิ่งอันตราย
การไหว้ศาลพระภูมิส่วนมากนิยมใช้ธูป 9 ดอก ที่สื่อถึงการไหว้ บูชา ผู้มีพระคุณ พระภูมิ เทพต่างๆของในการไหว้มักใช้ ดอกไม้ พวงมาลัย ของคาวหวาน ผลไม้ บทสวดคือ “ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุฐ ชัญโต รัตตินเทวะ มะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะปาปัง กิญจิ ปะริตตันตัม ภาณามะเหฯ”
ศาลเจ้าที่คืออะไร
ศาลเจ้าที่ หรือบางคนเรียก ศาลตายาย ตามความเชื่อคือศาลหรือสถานที่ของเจ้าของพื้นที่เดิม ที่เคยอยู่มาอย่างยาวนาน สามารถแบ่งได้ดังนี้
1.เจ้าที่แท้ คือเจ้าที่เดิมที่ไม่ได้ไปเกิดใหม่ เลือกอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน
2.เจ้าที่จร คือวิญญาณเร่ร่อนอยู่บริเวณนั้น เมื่อเจ้าที่เดิมจากไปเกิด จึงได้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ต่อ จุดสังเกตคือศาลเจ้าที่มักเป็นเรือนไทยจำลอง มี 4 หรือ 6 เสา มักตั้งอยู่ในพื้นที่กว้างๆ ตามความเชื่อเจ้าที่จะช่วยคุ้มครองเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยให้ปลอดภัยจากวิญญาณร้ายต่างๆ
การจุดธูปไหว้ศาลเจ้าที่ใช้ ธูป 7 ดอก ของไหว้มักเป็น เครื่องหอม ดอกไม้ พวงมาลัย อาหารต่างๆ บทสวดคือ “อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง” (3 จบ) การไหว้นั้นควรทำให้ถูกต้องตามหลักความเชื่อ มีหลายคนว่ากันว่าหากไหว้ผิดมักจะเกิดสิ่งไม่ดีตามมา ต้องทำการขอขมา ยังไงก็ทำให้ถูก ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ คิดดีทำดี สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นกับตัวเอง